Growth Mindset ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง การศึกษาพบว่า เด็กที่มี Growth Mindset จะประสบความสำเร็จในการเรียนรู้มากกว่ากลุ่มที่มี Fixed Mindset
Fixed Mindset คือ กรอบคิดแบบตายตัว คิดว่าความสามารถของแต่ละคน เกิดจากพรสวรรค์ที่ติดตัวมาและมีมุมมองตายตัวว่า “ฉันทำได้แค่นี้” จึงมักเป็นคนที่กลัวความล้มเหลว ไม่กล้าเผชิญหน้าสิ่งใหม่
ในขณะที่คนที่มี Growth Mindset จะมองว่า ความสามารถเกิดจากการฝึกฝน และความล้มเหลวคือการเรียนรู้
Growth Mindset จึงเป็นหนึ่งอาวุธสำคัญที่เด็ก ๆควรมีติดตัว เพื่อใช้ชีวิตในยุคที่โลกเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีสิ่งเร้ามากมายจนแทบจะไม่มีเวลาให้เราเรียนรู้จากความล้มเหลว
และ ‘Feedback’ คือหนึ่งในเครื่องมือที่สร้าง Growth Mindset ได้
คำถามคือ เราควรให้ feedback อย่างไร
องค์ประกอบของ feedback ที่ช่วยเสริมสร้าง Growth Mindset เราใช้หลักการ S.T.O.P. ดังนี้
- Specific : เจาะจงพฤติกรรมและอธิบายว่าเขาทำอะไรได้ดี และมีอะไรที่พัฒนาต่อได้อีก (ไม่ควรเกิน 2-3 ประเด็นต่อครั้ง)
- Timely : feedback ทันที เพื่อการพัฒนาที่รวดเร็ว
- Objective : พูดถึงสิ่งที่เป็นรูปธรรม ให้ข้อมูลชัดเจนว่าเขาอยู่ตรงไหนเมื่อเทียบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ (ไม่ใช่เทียบกับคนอื่น! และหลีกเลี่ยงการใช้คำนามธรรม เช่น เก่ง ฉลาด)
- Plan : วางแผนพัฒนาร่วมกัน โดยให้เขาเป็นผู้เลือกว่าจะพัฒนาจุดใดก่อน
เมื่อมีองค์ประกอบแล้วเรามาให้ feedback ที่ส่งเสริม Growth Mindset กันเลยด้วย 5 ขั้นตอนดังนี้ค่ะ
- ตั้งคำถามให้เขาลองประเมินตนเอง เช่น "คิดว่าทำอะไรได้ตามที่ตั้งใจแล้วบ้าง" "ถ้า 10 คะแนน คือ ทำสำเร็จครบตามที่เราตั้งใจไว้ ให้ตัวเองกี่คะแนน"
- ให้ feedback สิ่งที่ทำได้ดีก่อน เช่น "วาดรูปทำได้ดีมากเลย โดยเฉพาะการลงแสงเงา" "เลี้ยงบอลได้ดีมาก ลูกบอลไปตามทิศทางที่ตั้งใจ"
- แนะนำสิ่งที่ควรปรับปรุงหรือสิ่งที่พัฒนาได้ เช่น “ตอนที่ทำ... อาจลองปรับตรงนี้โดยการ...” “ทำ...ได้ดีแล้ว ถ้าลองทำ... น่าจะช่วยให้ดีขึ้นอีก”
- ช่วยกันสรุปอีกที ให้เป็นรูปธรรม เช่น “มาช่วยกันสรุปประเด็นที่พัฒนาต่อได้ มี 1. ... 2. .. .. ยังงง สงสัย หรืออยากถามอะไรเพิ่มมั้ย”
- ให้เด็กได้ตัดสินใจเลือกประเด็นที่จะนำไปปรับปรุงต่อ เช่น จากที่เราคุยกัน จะไปลองทำข้อไหนบ้าง ทำข้อไหนก่อนดี
การทำกระบวนการนี้ซ้ำ ๆ จะช่วยให้เด็ก ๆ วิเคราะห์ตนเอง สังเกต และรักการเรียนรู้ มี Growth Mindset ที่แข็งแรง แถมการได้ feedback ที่เป็นพลังเชิงบวก ช่วยให้เขาได้เรียนรู้เร็วขึ้นอีกเท่าตัว
อ้างอิงข้อมูลจาก: ศูนย์จิตวิทยาการศึกษา มูลนิธิยุวสถิรคุณ
** ครูพั้นช์ ณัฐฐนาฏย์ เผือกผ่อง **
เป็นเด็กเรียนเก่งมาตลอด จบเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากคณะวารสารศาสตร์สื่อสารมวลชน วิทยุโทรทัศน์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มต้นทำงานโปรดิวเซอร์ จนมาเป็น Production director ที่บริษัทซอฟแวร์แห่งหนึ่งในปัจจุบันแต่ก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร เพราะใครให้ทำอะไรก็ทำได้ทุกอย่าง
จนกระทั่งได้ไปทำงานเพื่อสังคมหลายอย่างโดยเฉพาะด้านการ Training ทำให้รู้ว่าตัวเองมี passion ในเรื่องการพัฒนาคน เมื่อช่วยให้คนเติบโตแล้วรู้สึกเติมเต็ม นี่คือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ทำให้เธอก้าวเข้ามาเป็น Educator คนหนึ่ง ของ Genius school Thailand